ปัจจุบันถือได้ว่า ประเด็นเรื่องของการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ (depletion of resources) การเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทั้งด้านโครงสร้างและหน้าที่ (degradation of ecosystem structure and function) ตลอดจนการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (loss of biodiversity) เป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสำคัญมากในการที่จะดูแลรักษาระบบนิเวศต่าง ๆ ทั่วโลกให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เนื่องจากของการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติภายในระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ โดยอาจต้องใช้เวลาเป็นสิบหรือร้อยปี จึงจะสามารถพิสูจน์ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้น การสร้างเครือข่ายวิจัย (research network) และให้ความสำคัญการวิจัยนิเวศวิทยาระยะยาว (long-term ecological research) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ขององค์ประกอบทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตภายในระบบนิเวศ (interaction between biotic and abiotic component of ecosystems) เพื่อประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศ (ecosystem restoration) และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (sustainable natural resources management)

งานวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ในประเทศไทยมีการดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยดังกล่าวล้วนมุ่งให้ความสำคัญเฉพาะการสำรวจชนิดพืชเพื่อนำไปสู่การจัดการป่าไม้ด้านวนวัฒน์ (silvics) ซึ่งในสมัยก่อนนั้นวิธีการวิจัยมักใช้การสำรวจด้วยแปลงขนาดเล็ก เพื่อสำรวจพรรณไม้ขนาดใหญ่และสำรวจในระยะเวลาอันสั้น ผลงานดังกล่าวมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ความหลากชนิด (species diversity) และการจำแนกระบบนิเวศป่าไม้ (forest classification) เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของพรรณพืช (species composition) ที่แตกต่างกันในแต่ละชนิดป่าของประเทศไทย การสำรวจในระยะเวลาอันสั้น ใช้พื้นที่สำรวจขนาดเล็กและไม่มีการติดตาม (monitoring) การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เดิมที่แตกต่างตามช่วงเวลา ส่งผลให้การวิจัยดังกล่าวเกิดข้อจำกัดต่อการประยุกต์ใช้เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศรวมถึงการจัดการป่าอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอาศัยความรู้ด้านการกระจายตัวเชิงพื้นที่ (spatial distribution) ของชนิดพรรณพืชที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการทางนิเวศวิทยา (amplitude of tolerance) เฉพาะของแต่ละชนิด ตลอดจนพลวัตป่า (forest dynamics) หรือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าไม้ที่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่มีความแปรปรวนอยู่ และเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศป่าไม้ในภาพรวมของประเทศ จึงได้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ในหลายหน่วยงานของประเทศไทย จนกระทั่งก่อตั้งเครือข่ายงานวิจัยภายใต้ชื่อ “เครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย (Thai Forest Ecological Research Network, T-FERN)”ภายใต้การดำเนินงานของ “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย (Cooperation Centre of Thai Forest Ecological Research Network)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยที่เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์งานวิจัยร่วมกัน ส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ บทความ ส่งเสริมการฝึกอบรม หรือข้อเสนอแนะต่อสังคม รวมถึงการจัดประชุมสัมมนาวิชาการด้านนิเวศวิทยา เพื่อเร่งศึกษาวิจัยให้เกิดความเข้าใจถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยา ได้มีการจัดการประชุมทางวิชาการและนำเสนอผลงานเครือข่ายฯ ขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งมีการจัดพิมพ์เอกสารรายงานการประชุม (Proceedings) ในทุกครั้ง นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ยังได้จัดตั้ง วารสารวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้เมืองไทย (Thai Forest Ecological Research Journal) เมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของบทความทางวิชาการให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยมีการตีพิมพ์ปีละ 2 ฉบับ มีการเผยแพร่ผ่านทางรูปเล่มวารสารและรูปแบบออนไลน์ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้จาก Website: www.tferj.forestku.com การดำเนินงานทั้งด้านส่งเสริมงานวิจัยระหว่างสมาชิกในเครือข่ายฯ พัฒนาศักยภาพนักวิจัย และรวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านการประชุมทางวิชาการเครือข่ายฯ ตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ผ่านมานับว่ามีประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ศูนย์ประสานงานครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ จึงร่วมกับ ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อน ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไผ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดประชุมทางวิชาการเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “องค์ความด้านรู้นิเวศวิทยาในการแก้ปัญหาเพื่อมุ่งสู่สังคมที่ยั่งยืน (Ecological knowledge-based solution toward sustainable society)” ระหว่างวันที่ 25 – 27 มกราคม พ.ศ. 2567 ในรูปแบบภายในสถานที่จัดการประชุม (onsite conference) เพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการและเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยา ระหว่างนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้สนในทั่วไป ซึ่งจะทำให้การขยายกลุ่มเครือข่ายฯ และส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในเครือข่ายฯ ในด้านการศึกษาวิจัย ตลอดจนการประยุกต์องค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยาเพื่อการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่สังคมที่ยั่งยืนต่อไป