ประวัติและความเป็นมา

งานวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ของประเทศไทย (Thai forest ecological research) มีการดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยดังกล่าวล้วนมุ่งให้ความสำคัญเฉพาะการสำรวจชนิดพันธุ์พืชเพื่อนำไปสู่การจัดการป่าไม้ด้านวนวัฒน์ และการวิจัยมักใช้การสำรวจด้วยแปลงขนาดเล็ก เพื่อสำรวจพรรณไม้ขนาดใหญ่และสำรวจในระยะเวลาอันสั้น ผลงานดังกล่าวมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ (species diversity) และการจำแนกระบบนิเวศป่าไม้ ที่แตกต่างกันในแต่ละชนิดป่าของประเทศ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวและขาดการติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (long-term monitoring) ทำให้ผลลัพธ์ของการวิจัยดังกล่าวเกิดข้อจำกัดต่อการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจด้านการกระจายตัวของชนิดพรรณพืช (spatial distribution) ในพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับความต้องการทางนิเวศวิทยา (amplitude of tolerance) เฉพาะของแต่ละชนิด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศป่าไม้ที่มีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะโลกร้อน (global warming) ต่อพลวัตป่าไม้ (forest dynamics) และเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศป่าไม้ในภาพรวมของประเทศ

งานวิจัยนิเวศวิทยาระยะยาว (long-term ecological research) ของประเทศจึงเริ่มมีการดำเนินการติดตามอย่างต่อเนื่องมากขึ้นด้วยการใช้พื้นที่แปลงถาวร (permanent plots) เพื่อดำเนินการติดตามพลวัตป่า (forest dynamics) ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ซี่งแปลงถาวรเพื่อการวิจัยนี้กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ และยังคงทำการวิจัยต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น เขตสงวนชีวมณฑลสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี  สถานีวิจัยต้นน้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และสถานีวิจัยห้วยคอกม้า อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเชื่อมโยงของข้อมูลเพื่อการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่สามารถกระทำได้ อาจเนื่องด้วยการใช้วิธีการศึกษาและการวิเคราะห์ ตลอดจนรวมถึงช่วงระยะเวลาการศึกษาที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้มีความเข้าใจกระบวนการทางระบบนิเวศป่าไม้เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อน (global warming) จึงควรเร่งดำเนินการหามาตรการสร้างความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ของประเทศไทยให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ในหลายหน่วยงาน รวมถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานวิจัยด้านนิเวศวิทยาป่าไม้เพื่อตอบสนององค์ความรู้ของศาสตร์ด้านนี้ และได้ดำเนินการประชุมเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย (Thai Forest Ecological Research Network, T-FERN) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม พ.ศ. 2555 ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ และต่อมาได้ประกาศจัดตั้ง เครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย โดย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 และเพื่อเพิ่มโอกาสให้นักวิจัยภายใต้เครือข่ายสามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงระหว่างระบบนิเวศทั้งในส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และเชื่อมโยงไปสู่ระดับนานาชาติให้มากขึ้น ต่อมาจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย (Cooperating Centre of Thai Forest Ecological Research Network)” เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 ภายใต้สังกัด ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

วิสัยทัศน์

เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางวิชาและฐานข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ที่ครอบคลุมทุกด้าน สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายงานวิจัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ

ภารกิจของศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย

1. เพื่อเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาผลงานวิจัย ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนสร้างมาตรการการอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเชื่อมโยงเครือข่ายภายในประเทศเข้ากับระดับนานาชาติ

2. เพื่อเป็นการเสริมสร้าง พัฒนาให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการ เกิดการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยทั้งภายในและต่างประเทศ

3) เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิชาการ หรือบทความผ่านทาง วารสารวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้เมืองไทย (Thai Forest Ecological Research Journal, TFERJ) หรือเสนอข้อเสนอแนะต่อประเด็นข่าวร้อนด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ต่อสังคม ผ่านเครือข่ายออนไลน์ทางเว็บไซด์ https://conference.tfern.com

4) ส่งเสริมและฝึกอบรมให้แก่นักวิจัย เจ้าหน้าที่ ชุมชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ เพื่อสร้างแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในการศึกษาวิจัย และสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศ

แผนการดำเนินงาน

แผนการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ เน้นการส่งเสริมงานวิจัย 4 ด้าน เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการส่งเสริมและฝึกอบรมแก่นักวิจัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ ชุมชนท้องถิ่น หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยทั้งสี่ด้านคือ

1) ด้านนิเวศวิทยาป่าไม้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2) ด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ต่อผลกระทบของไฟป่า

3) ด้านนิเวศวิทยาประยุกต์เพื่อการฟื้นฟูป่า และ

4) ด้านนิเวศวิทยาการบริการของระบบนิเวศ 

สถานที่ติดต่อ

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย

ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้  คณะวนศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10900

โทรศัพท์ 02-579-0176 ต่อ 512 โทรสาร 02-942-8107

Email: dokrak.m@ku.ac.th